loading

ShowRoom

สิ่งที่ควรระวังในการถ่ายภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์

การถ่ายภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์ นับเป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือหลัก” ของอาชีพ PR ที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่ายบุคคล, บรรยากาศ หรือแม้แต่วัตถุสิ่งของ

ไม่ว่าหน้างานจะมีการวางแผนที่ละเอียดรอบคอบ หรือทำคอนเทนต์ดีเพียงใด แต่หากภาพถ่ายไม่ไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่ดึงดูดมากพอก็อาจทำให้ตกม้าตายได้เช่นกัน

จะเห็นว่าในยุคปัจจุบัน หน่วยงาน PR ต่างๆ มักให้ความสำคัญในเรื่องงานถ่ายภาพไม่แพ้เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัท PR Agency เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำเสนอผลงานให้เป็นที่สนใจให้มากที่สุด โดยคำนึงตั้งแต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปจนภาพรวมใหญ่

ทั้งนี้ก็มองว่าการถ่ายภาพในงาน PR ไม่ได้มีแพทเทิร์นตายตัว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงานที่ได้รับมอบหมาย และการครีเอทของแต่ละองค์กร ซึ่งนับเป็นการยกระดับและเพิ่มเสน่ห์ของงาน PR ขึ้นไปอีกขั้น

ที่นี้เรามาดูว่าการถ่ายภาพในงาน PR มีอะไร และอะไรบ้างที่ควรระวัง

1. การถ่ายภาพบุคคล

√ เป็นทางการ

อาจจะเน้นฉากหลังให้ดูเรียบหรูสวยงาม เพื่อส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้ถูกถ่าย ที่อาจจะโพสท่าได้ไม่มาก เพราะต้องสุภาพเรียบร้อย ซึ่งฉากต่างๆ ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมเพราะอาจเป็นการสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้ถูกถ่ายภาพด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องคำนึงถึงชุดที่จะใส่ ให้เหมาะสมกับงาน อาทิ มาในธีมหรือสีที่กำหนด (ถ้ามี)

√ ไม่เป็นทางการ

ในส่วนของภาพถ่ายที่ไม่เป็นทางการ แม้จะเป็นอิริยาบถที่สบายมากกว่าแบบแรก แต่ก็ต้องไม่ลืมคำนึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อด้วยเช่นกัน อาทิ เราต้องการให้คนจดจำอะไรงานของเรา โพรดักส์คืออะไร ต้องวางตำแหน่งให้ดี ทั้งจงใจและไม่จงใจก็ไม่ผิด ขึ้นอยู่กับการนำเสนอของแต่ละงาน การโพสท่านั่ง ยืน ให้ดูสง่างาม การถ่ายภาพเดี่ยว ภาพคู่และภาพหมู่ ล้วนแล้วแต่ต้องมีการวางแผนทั้งสิ้น เพื่อให้ได้ภาพที่นำไปใช้ได้มากที่สุด

2. การถ่ายภาพบรรยากาศหรือวัตถุสิ่งของ

√ ต้องคำนึงว่าเป็นสินค้าประเภทอะไร ต้องใช้แสงธรรมชาติมั๊ย หรือองค์ประกอบร่วมต่างๆ ต้องมีอะไรบ้าง อาทิ หากเราถ่ายภาพคอนโดฯ อาคารต่างๆ เราอาจจะต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้ได้แสงที่เราต้องการมากที่สุด ทั้งกลางวันและกลางคืน องค์ประกอบโดยรอบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคจะมีการจัดการอย่างไร ก็ต้องคำนึงให้ละเอียดถี่ถ้วน

*อย่าลืมว่าในบางงานถ้าจบไปแล้ว การจะกลับมาแก้ไข หรือถ่ายภาพเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหรืออาจจะไม่ได้เลย ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดีว่าต้องการภาพแบบไหน ให้ตอบโจทย์ได้ครบที่สุด

สิ่งที่ควรระวังในการถ่ายภาพงาน PR

1. ไม่ควรถ่ายติดสินค้าคู่แข่ง อาทิ หากงานถูกจัดในห้างฯ ที่ภาพด้านหลังเป็นสินค้าคู่แข่ง เราต้องเลี่ยงไปมุมอื่นแทน

2. การถ่ายบรรยากาศโดยรวม อาจต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์คู่แข่งหรือ อิริยาบถต่างๆ ที่ผู้ถ่ายยังไม่พร้อม อาจทำให้ภาพออกมาดูไม่เหมาะสม

3. ควรต้องถ่ายภาพเก็บไว้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน อาจจะดูว่ามันก็เหมือนๆ กัน แค่ความจริงแพทเทิร์นในการใช้รูปของสื่อมีความแตกต่างกัน บางสื่อรีเควสแนวตั้ง บางสื่อรีเควสแนวนอน บางสื่อก็ได้ทั้งสองแบบ ดังนั้น ควรถ่ายเก็บไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้สื่อมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า งาน PR นอกจากองค์ประกอบอื่นๆ แล้ว การให้ความสำคัญกับ “ภาพถ่าย” ก็อาจกลายเป็นเสน่ห์ในงาน PR ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Share